Skip to main content

Fujitsu

English

Thailand

Archived content

NOTE: this is an archived page and the content is likely to be out of date.

การจัดการความปลอดภัยที่ถูกถามถึงอีกครั้งในปัจจุบัน การใช้งาน IoT จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง

การลดแรงงานและการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจากการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น หุ่นยนต์ หรือ ICT ในพื้นที่ปฏิบัติงานต่างๆ เช่น พื้นที่อุตสาหกรรมการผลิต พื้นที่ก่อสร้าง สถานที่ปฏิบัติงานโลจิสติกส์ เป็นต้น แต่ในทางกลับกัน ผลจากการที่สามารถใช้คนจำนวนน้อยในการปฏิบัติงานนั้นก็ทำให้ปัญหาการดูแลรักษาความปลอดภัยของพนักงานและการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในการปฏิบัติงานนั้นมีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากปล่อยปัญหาเหล่านี้ไว้ก็จะเกิดความเสี่ยงต่างๆ มากมาย เช่น มีความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพของพนักงาน เสียชื่อเสียงทางสังคม และทำให้จ้างงานพนักงานดีๆ ได้ยากขึ้น เป็นต้น ถ้าเช่นนั้น เราควรทำอย่างไรจึงจะสามารถบริหารจัดการความปลอดภัยที่มีความแน่นอนและเป็นเหตุเป็นผลในฐานะองค์กร โดยไม่พึ่งเพียงความสามารถในการเฝ้าระวังของพนักงานเพียงอย่างเดียว เราจะขอแนะนำแนวคิดพื้นฐานในการจัดการความปลอดภัยและประเด็นสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บจากการทำงานลงได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี

สำหรับองค์กรและบริษัทในญี่ปุ่นนั้น "การจัดการความปลอดภัย" ที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและเป็นสุข ช่วยปกป้องพนักงานจากอุบัติเหตุในการทำงาน และช่วยบริหารจัดการแรงงาน ถือเป็นประเด็นเร่งด่วนในปัจจุบัน ภาครัฐได้ชี้แนะบริษัทต่างๆ ว่าบริษัทมีหน้าที่ในการจัดหาเวลาพักให้แก่พนักงานเมื่อมีการทำงานเป็นระยะเวลาหนึ่งและห้ามไม่ให้มีการทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน หลายๆ บริษัทก็ได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการแรงงานโดยพิจารณาจากการทำงานนั้นๆ แต่เมื่อมองจากมุมมองของการจัดการความปลอดภัยแล้วก็พบว่าการจัดการดังกล่าวยังไม่เพียงพอ

การที่บริษัทจะคว้าชัยชนะท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในระดับนานาชาติได้นั้น การลดแรงงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานถือเป็นสิ่งที่จะขาดไปเสียไม่ได้ในพื้นที่ปฏิบัติงานก็ต้องมีการลดแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ได้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ในงานอุตสาหกรรมการผลิตก็มีการพัฒนาไปใช้หุ่นยนต์มากขึ้น ไลน์ผลิตที่เคยใช้พนักงานจำนวนมากดำเนินการก็เหลือพนักงานเพียงคนเดียวเป็นผู้ดำเนินการ เป็นต้น

ทว่าเมื่อจำนวนคนที่ทำงานในพื้นที่หน้างานลดลง ความเสี่ยงที่จะไม่มีผู้สังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดก็จะมากขึ้นไปด้วย สมมติว่าพนักงานและหุ่นยนต์ได้ทำงานร่วมกันในไลน์การผลิตก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันเพิ่มมากขึ้น และหากไม่สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วในยามที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินก็อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายได้

ถ้าเช่นนั้น เพื่อบริหารการจัดการความปลอดภัยที่ดี บริษัทควรทำเช่นไร และควรเริ่มลงมือทำจากส่วนใดก่อน โดยเฉพาะบริษัทที่มีพื้นที่หน้างานที่ต้องมีพนักงานประจำอยู่มากอย่างอุตสาหกรรมการผลิตหรือการก่อสร้าง การพิจารณาเรื่องการจัดการความปลอดภัยและการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีโดยหาจุดสมดุลที่เหมาะสมนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่สร้างความลำบากให้ไม่น้อยเลย

หากละเลยเรื่องการจัดการความปลอดภัยก็จะมีผลเสียต่อการสรรหาทรัพยากรบุคคล

แม้จะลงทุนในเรื่องของการจัดการความปลอดภัยก็ใช่ว่าจะได้กำไรเพิ่มขึ้น จึงมีผู้บริหารระดับสูงจำนวนไม่น้อยที่ไม่ค่อยใส่ใจในเรื่องการจัดการความปลอดภัย

แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่เคร่งครัดเรื่องการจัดการความปลอดภัยจนเกิดอุบัติเหตุขึ้น ชื่อเสียงทางสังคมของบริษัทนั้นๆ ก็จะตกต่ำลงและอาจส่งผลเสียต่อผลประกอบการได้ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลเสียต่อการสรรหาบุคลากรอีกด้วย (รูปที่ 1) ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างนั้นมีปริมาณงานในท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นอิทธิพลจากการเกิดภัยธรรมชาติซ้ำๆ กันหลายๆ ครั้งและมีการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก 2020 เป็นต้น ทำให้ผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะสูงนั้นมีจำนวนไม่พอต่อความต้องการของตลาด การรักษาแรงงานที่มีความสามารถยอดเยี่ยมไว้ให้ได้ก็ถือเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาเร่งด่วนในตอนนี้เช่นกัน

การที่จะสรรหาบุคลากรที่ยอดเยี่ยมมาได้นั้นไม่ใช่แค่เงื่อนไขในเรื่องของค่าจ้างเพียงอย่างเดียว การให้ความสำคัญต่อการจัดการความปลอดภัยสำหรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่มีความเสี่ยงอยู่เสมออย่างสถานที่ก่อสร้างนั้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน และบริษัทก็กำลังถูกตั้งคำถามว่าได้มีการดูแลแรงงานหรือไม่อีกด้วย

ปัญหาเรื่องคนไม่พอนั้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในสายการผลิตหรือสายการก่อสร้างเท่านั้น สำหรับญี่ปุ่นที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุและมีอัตราการเกิดน้อยนั้น จำนวนแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงก็กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในที่ทำงาน เพื่อปกป้องผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะขั้นสูงซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่า และเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สามารถทำงานได้อย่างสบายใจ การจัดการความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

ตรวจสอบสถานการณ์ของผู้ปฏิบัติงานได้ตามเวลาจริง

อาจมีบางบริษัทที่มีการตรวจดูท่าทางและสภาพของพนักงานในช่วงเวลา เช่น ตอนประชุมเช้า เพื่อรักษาความปลอดภัยของพนักงานในพื้นที่ทำงาน แต่การทำเช่นนั้นก็ยังยากต่อการติดตามสถานการณ์อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดปัญหาและการแก้ไขสถานการณ์นั้นทำได้ยาก

ตัวอย่างเช่น โรงงานสารเคมีที่มีพนักงานเข้างานช่วงกลางคืนอยู่เพียงคนเดียว พนักงานได้ลื่นล้มศีรษะกระแทก ในช่วงเวลานั้นถ้าหากว่าสามารถติดตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตามก็จะสามารถรับมือต่อสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม เช่น เรียกรถพยาบาล เป็นต้น แต่หากไม่สามารถทำได้ และไม่มีใครสังเกตเห็นเลยจนเช้าก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ที่พื้นที่ก่อสร้างในช่วงฤดูร้อน แม้จะมีการแนะนำให้พนักงานพักเป็นระยะและดื่มน้ำให้เพียงพอแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันภาวะขาดน้ำหรือฮีทสโตรกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ในโรงงานก็มีพนักงานอยู่น้อย และต่างก็ต้องอยู่ประจำที่พื้นที่ปฏิบัติงานของตนเอง ดังนั้นเมื่อมีพนักงานที่สภาพร่างกายย่ำแย่จนทำงานต่อไม่ไหว คนอื่นๆ ก็อาจจะไม่ทันสังเกตในทันที

หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับพนักงาน แล้วมีการแจ้งอย่างรวดเร็วพร้อมมีการเตรียมมาตรการแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที ระดับการจัดการความปลอดภัยก็จะสูงขึ้นและจะได้รับการชื่นชมในฐานะของ "บริษัทที่มีความใส่ใจในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงาน โดยพิจารณาจากฝ่ายผู้ปฏิบัติงาน" อย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้การเพิ่มจำนวนคนที่หน้างานย่อมสวนทางกับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการลดแรงงานลง ตรงจุดนี้เองการใช้งาน ICT จึงเป็นที่จับตามองขึ้นมา กล่าวคือเป็นระบบการดูแลสถานะของพนักงานโดยใช้ IoT (อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง) โดยเฉพาะ

สร้างเสริมการจัดการความปลอดภัยด้วยข้อมูลที่รวบรวมมาจาก IoT

IoT คือการที่คนหรือสิ่งของใช้อินเตอร์เน็ตในการแลกผ่านข้อมูลระหว่างกัน และใช้ผลวิเคราะห์ที่ได้มาสร้างสรรค์การให้บริการหรือค่านิยมใหม่ๆ ขึ้น

สิ่งของที่เป็นตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายก็เช่น สมาร์ทโฟนและนาฬิกาสมาร์ทวอช อุปกรณ์เหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการตรวจข้อมูลต่างๆ เช่น เวลาที่นอนหลับ จำนวนก้าวที่เดิน อุณหภูมิร่างกาย ชีพจร เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพ

ฟูจิตสึซึ่งได้ทำการพัฒนาระบบ ICT ของบริษัท โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน เป็นต้น ก็จะใช้ความรู้ที่ได้จากเนื้อหางานเหล่านี้มาให้บริการโซลูชั่นที่ช่วยสนับสนุนการจัดการความปลอดภัยในพื้นที่โรงงาน เป็นต้น คัตสึฮิสะ ฟุจิโนะ ผู้จัดการอาวุโส
ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและพัฒนาธุรกิจ IoT
แผนกธุรกิจนวัตกรรม IoT ของฟูจิตสึกล่าวว่า
"ICT สามารถเข้ามามีบทบาทในหลายหน้าที่ด้วยกันในเรื่องการจัดการความปลอดภัย"

ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการใช้งานนาฬิกาข้อมูลหรือเข็มกลัดที่เป็นอุปกรณ์เซนเซอร์ของบริษัทเราก็จะสามารถเก็บข้อมูลตำแหน่งสถานที่อยู่ของเจ้าตัว (หมายเหตุ 1) อุณหภูมิและความชื้นของสถานที่นั้น จำนวนการเต้นของชีพจรเจ้าตัว (หมายเหตุ 2) เป็นต้น เรายังมีเซนเซอร์จับการเร่งความเร็วและเซนเซอร์ไจโรที่สามารถตรวจจับสถานะความเร็วในการเคลื่อนที่และความเอียงได้ ข้อมูลเหล่านี้จะมีการบันทึกไว้แบบตามเวลาจริงและสามารถวิเคราะห์ได้แบบอัตโนมัติ

เมื่อใช้งานเซนเซอร์ที่มีรูปร่างแบบนาฬิกาข้อมือ จะมีการบันทึกข้อมูลสถานที่ทำงานทั้งอุณหภูมิและความชื้น สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นและอัตราการเต้นของชีพจรมาประเมินระดับความเครียดจากความร้อน (หมายเหตุ 3)และระดับสภาวะทางร่างกายของเจ้าตัว (หมายเหตุ 4) ในกรณีที่ผลที่ได้ตรงกับเงื่อนไขการแจ้งเตือนที่ตั้งค่าไว้ล่วงหน้าก็จะสามารถแจ้งเตือนไปยังผู้มีอำนาจรับผิดชอบได้ นอกจากนี้เมื่อใช้งานเซนเซอร์ที่มีรูปร่างเหมือนเข็มกลัดก็จะสามารถใช้ข้อมูลตำแหน่งและข้อมูลการเอียงมาประเมินการเคลื่อนไหวในการทำงานของเจ้าตัวได้ ทำให้สามารถใช้ตรวจและแจ้งเตือนกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหกล้มหรือการพลัดตกได้

ผู้ปฏิบัติงานเพียงแค่สวมใส่เซนเซอร์แบบนาฬิกาข้อมือที่มีน้ำหนักเซนเซอร์เพียง 23 กรัม หรือติดเซนเซอร์แบบเข็มกลัดที่มีน้ำหนักเซนเซอร์เพียง 35 กรัม เซนเซอร์จะทำการส่งข้อมูลโดยอัตโนมัติ ผู้ปฏิบัติงานจึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการใดๆ ด้วยตัวเอง ทำให้ใช้งานได้ง่ายไม่ยุ่งยาก

ด้วยการใช้ ICT ทำให้สามารถตัดสินใจได้จากมุมมองของบุคคลภายนอก

ยิ่งมีการใช้งาน ICT ก็ยิ่งพบข้อดีมากขึ้น การที่สามารถตัดสินใจได้จากมุมมองของบุคคลภายนอกก็เป็นหนึ่งในข้อดีนั้น

"ในระหว่างปฏิบัติงานอาจเกิดเหตุการณ์ที่ว่ามีการสอบถามเรื่องสภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน แม้เจ้าตัวจะบอกว่าไม่เป็นไร แต่หลังจากนั้น 5 นาทีเจ้าตัวก็เป็นฮีทสโตรกหรือมีภาวะขาดน้ำจนเป็นลมไป หากมีการใช้งาน IoT ก็จะสามารถแจ้งเตือนไปยังผู้จัดการดูแลได้ เมื่อการประเมินระดับความเครียดจากความร้อนหรือระดับการรับสภาวะของร่างกายอยู่ในเกณฑ์แจ้งเตือนตามที่ได้มีการตั้งค่าไว้ล่วงหน้า เราจะสามารถใช้เกณฑ์นี้มาอ้างอิงในการดูแลพนักงาน สามารถระบุให้ไปพักได้อย่างเหมาะสม และสามารถจัดการเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้อย่างรวดเร็ว"(ฟุจิโนะ)

นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การลดการใช้แรงงานอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นในโรงงานที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีจุดที่ต้องตรวจสอบมากและมีพื้นที่ที่อันตราย เพื่อความปลอดภัย จึงต้องให้ดำเนินการตรวจสอบกันเป็นกลุ่ม 2 คน แต่ด้วยการใช้งาน IoT จะทำให้ทราบได้ว่ามีการหกล้มหรือการพลัดตกเกิดขึ้น ทำให้พนักงานเพียงคนเดียวก็สามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย

ในกรณีที่มีการใช้งานเซนเซอร์แบบเข็มกลัด ข้อดีอย่างมากของอุปกรณ์ชนิดนี้คือสามารถนำข้อมูลที่รวบรวมมาใช้ใหม่ได้อีกครั้งในวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ฟุจิโนะกล่าวว่า "หากสามารถวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของพนักงานภายในโรงงานได้แล้วล่ะก็ จะสามารถมองเห็นเส้นทางการเคลื่อนไหวและดูได้ว่าตรงจุดไหนที่มีการเคลื่อนไหวแบบฝืนทำ สูญเปล่า ไม่สม่ำเสมอ" ทำให้เราสามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวของพนักงานภายในโรงงานในเชิงปริมาณแบบที่ไม่เคยสามารถรวบรวมได้มาก่อนและนำมาสร้างมาตรการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้นอย่างได้ผลดีอีกด้วย

สำหรับผู้ประกอบการ สิ่งเหล่านี้ก็น่าจะสะท้อนข้อดีของการใช้งาน ICT ออกมาได้อย่างน่าสนใจทีเดียว สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อใช้ ICT ในการพัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัยนั้นก็ไม่ได้เป็นเพียงค่าใช้จ่ายในการดูแลเพียงอย่างเดียว แต่ยังกล่าวได้ว่าเป็นกิจกรรมรวบรวมข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ปรับปรุงการบริหารธุรกิจได้อีกด้วย นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ก่อนแล้วจึงใช้ระบบการจัดการความปลอดภัย

บริษัท ฟูจิตสึ จำกัด
แผนกธุรกิจนวัตกรรม IoT
ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและพัฒนาธุรกิจ IoT
ผู้จัดการอาวุโส
คัตสึฮิสะ ฟุจิโนะ

(หมายเหตุ 1) ต้องมีการติดตั้งสัญญาณเตือน
(หมายเหตุ 2) อัตราการเต้นของชีพจร: ประเมินจาก จำนวนการเต้นของชีพจร/นาที
(หมายเหตุ 3) ระดับความเครียดจากความร้อน: คำนวณจากอุณหภูมิและความชื้นเทียบกับอัตราการเต้นของชีพจร ตามหลักการ "ความสัมพันธ์ระหว่าง WBGT และอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ" ของสมาคมอุตุนิยมวิทยาแห่งญี่ปุ่น
(หมายเหตุ 4) ระดับการแบกรับสภาวะของร่างกาย: ประเมินการสภาวะของร่างกายจากกิจกรรมต่างๆ โดยคำนวณจากอัตราการเต้นของชีพจรตามดัชนีชี้วัดต่างๆ เช่น Karvonen Formula

สาธิตการใช้งานได้ง่ายๆ ด้วยคลาวด์

แต่ถึงอย่างนั้นการจัดสรรงบประมาณมาสร้างระบบ IoTและรอให้เห็นผลลัพธ์ออกมาก็ยังต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร การที่จะวางระบบในระดับใหญ่ตั้งแต่แรกก็มีความเสี่ยง ด้วยเหตุนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 บริษัทฟูจิตสึจึงได้วางแผนเปิดให้บริการระบบคลาวด์ ถ้าเป็นคลาวด์ก็จะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายเบื้องต้นได้ และจ่ายเฉพาะในส่วนที่ใช้งาน เมื่อเข้าใจผลลัพธ์ที่ได้แล้ว การขยายผลต่อก็จะทำได้ง่ายขึ้น (รูปที่ 2)

สำหรับบริษัทที่มีอุปสรรคจากการต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบคลาวด์อย่างกะทันหันนั้น ทางบริษัทเราก็ได้จัดเตรียม "แพ็คเกจทดลองสำหรับการดูแลพนักงาน" ขึ้นเพื่อสาธิตการทำงานจริงได้อย่างง่ายดาย ในแพ็คเกตประกอบด้วยสายรัดข้อมือที่จะจับสัญญาณชีพซึ่งต้องให้พนักงานสวมไว้ที่ข้อมือ (หมายเหตุ 5) 5 ชิ้น สมาร์ทโฟนที่จะรวบรวมข้อมูลแล้วส่งข้อมูลมาที่เซิร์ฟเวอร์บนคลาวด์ 2 เครื่อง และแอปพลิเคชั่นที่ใช้ในการวิเคราะห์เซนเซอร์และการดูผลนั้นจะมีให้บริการพร้อมกับระบบคลาวด์

เพียงเท่านี้ก็สามารถเก็บข้อมูลอุณหภูมิ, ความชื้น, อัตราชีพจร, การประเมินระดับความเครียดเพราะความร้อน,การประเมินสภาวะร่างกาย, จำนวนก้าว, ปริมาณกิจกรรม, การแจ้งการหกล้ม/พลัดตก แล้วนำมาประเมินสถานการณ์ได้ ทำให้สามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ชัดเจน

การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยนั้น การใช้โซลูชั่น ICT เช่นนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางลัดที่นำไปสู่เป้าหมาย การจัดการความปลอดภัยอย่างเต็มที่จะเชื่อมโยงไปสู่การรักษาแรงงานที่มีทักษะสูงไว้ได้ และทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการดูแลเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของบริษัทให้เพิ่มขึ้น จึงกล่าวได้ว่าการพัฒนาการจัดการดูแลสภาพแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพนั้นถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

(หมายเหตุ 5) อุปกรณ์เซนเซอร์ประเภทนาฬิกาข้อมือ

icon-formContact

We want to hear from you.