Skip to main content

Fujitsu

English

Thailand

Archived content

NOTE: this is an archived page and the content is likely to be out of date.

ใช้ประโยชน์จาก IoT อย่างเต็มที่ในโรงงานขนาดใหญ่ ในการเชื่อมโยงผู้คน เครื่องจักร และกระบวนการต่างๆ เพื่อการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต

Smart Factory

นอกจากเสียงเรียกร้องเกี่ยวกับ “อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)” และ “โรงงานอัจฉริยะ (Smart Manufacturing)” แล้ว การจัดการสำหรับการผลิตสินค้าของยุคต่อไปก็กำลังรุดหน้า ในครั้งนี้เราจะพามารู้จักกับ “โรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ (Digital Connected Plant)” ของบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (Siam City Cement: SCCC) จากการกล่าวสุนทรพจน์ในงาน “Fujitsu World Tour Asia Conference 2017 in Bangkok” ของปูนซีเมนต์นครหลวง ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ในเดือน พ.ย. 2017 ที่ผ่านมา โดยคุณอิฑยา ศิริวสุกาญจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัท อินทรี ดิจิทัล จำกัด (INSEE Digital) ซึ่งเป็นบริษัท IT ในเครือของปูนซีเมนต์นครหลวง

บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ในประเทศไทยกำลังดำเนินการสร้าง “โรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ” ในประเทศไทย ด้วยการใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เพื่อสร้างเครือข่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตต่างๆ ในโรงงาน ซึ่งเชื่อมต่อผู้คน อุปกรณ์ และกระบวนการต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายคือ การเข้าใจสถานะการทำงานของโรงงานแบบเรียลไทม์ พร้อมกับควบคุมภาพรวมของโรงงานอย่างเหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

สังคมกำลังค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่ยุคแห่งอนาคต ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และอีกประมาณ 10 ปีหลังจากนี้ ปัญหาจากสังคมผู้สูงอายุก็จะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน แน่นอนว่าวิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยน การทำงานเปลี่ยน และตลาดก็กำลังเปลี่ยนไป ในขณะเดียวกันเมื่อมองไปที่โรงงานก็มีความเป็นไปได้ว่าจะขาดทรัพยากรด้านแรงงาน ฯลฯ

คุณอิฑยากล่าวว่า “เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในอีก 10 ปีหลังจากนี้ และต่อไปในอนาคต บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงจำเป็นต้องทบทวนเรื่องยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับตัวธุรกิจเองด้วย ซึ่งนวัตกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง” นอกเหนือจากการสร้างระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังจำเป็นต้องรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างรวดเร็ว และนำเสนอคุณค่าใหม่แก่ลูกค้าอยู่เสมอ จากแนวคิดดังกล่าว บริษัทจึงได้เริ่มพัฒนาระบบดิจิทัลขึ้นมา

โรงงานดิจิทัลอัจฉริยะคือภาพของอุตสาหกรรม 4.0 ที่ปูนซีเมนต์นครหลวงตั้งเป้าไว้

ในการขยายธุรกิจไปยังทั่วภูมิภาคเอเชียนั้น เมื่อโรงงานดิจิทัลอัจฉริยะเกิดขึ้นจริง นอกจากจะนำสิ่งนี้ไปใช้กับแต่ละฝ่ายงานภายในประเทศแล้ว ยังจะเชื่อมโยงไปสู่ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศอีกด้วย การเข้าใจสถานการณ์การผลิตในโรงงานหรือสภาพการทำงานของเครื่องจักร และการแชร์ข้อมูลระหว่างกัน จะทำให้สามารถตรวจพบปัญหาได้เร็ว คาดการณ์ความเสียหายเหล่านั้นได้ กล่าวคือสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างฉับไว (รูปที่ 1) ในขณะเดียวกับที่ลดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง ก็ยังสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้อีกด้วย อีกทั้งยังรับรู้การเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างว่องไว และสามารถรับมือกับปัญหาขาดแคลนทรัพยากรเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ด้วยระบบอัตโนมัติ ฯลฯ ได้อย่างแน่นอน

รูปที่ 1 ภาพตัวอย่าง “โรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ” ของปูนซีเมนต์นครหลวง

คุณอิฑยากล่าวว่า “สิ่งนี้คืออุตสาหกรรม 4.0 ที่ปูนซีเมนต์นครหลวงคิดไว้” “อีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ อุปกรณ์ต่างๆ จะมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น ระบบอัตโนมัติจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง อย่างไรก็ตามเพื่อที่จะใช้อุปกรณ์เหล่านั้นให้ได้เต็มประสิทธิภาพ เราต้องให้อุปกรณ์เรียนรู้ที่จะทำงานได้อย่างเหมาะสมที่สุดตามสถานการณ์อยู่เสมอ “ยิ่งเรียนรู้มากครั้ง และใช้เวลามากไปกับมันมากเท่าใด อุปกรณ์ก็จะยิ่งฉลาดขึ้นเท่านั้น ดังนั้นพวกเราจึงจำเป็นต้องเริ่มดำเนินการอุตสาหกรรม 4.0 กันตั้งแต่ตอนนี้”

คุณอิฑยาอธิบายต่อว่า “โรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ เป็นกำลังสำคัญสำหรับพวกเรา และจะเป็นกำลังขับเคลื่อนธุรกิจ” หากสามารถเชื่อมโยงผู้คน อุปกรณ์ และกระบวนการทั้งหมดเข้าด้วยกันได้ เราก็จะได้รับข้อมูลจำนวนมาก และเมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ ก็จะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการตัดสินใจและดำเนินการต่ออย่างเหมาะสมและคล่องตัว

ยิ่งไปกว่านั้น คุณอิฑยายังชี้ให้เห็นว่า “สิ่งสำคัญในการดำเนินการอุตสาหกรรม 4.0 คือการเพิ่มทักษะของคน” เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่เป็นคนดำเนินการต่างๆ ก็คือคนนั่นเอง ไม่เพียงแต่เครื่องจักรอุปกรณ์เท่านั้น เราจำเป็นต้องเพิ่มทักษะของคนที่ใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเช่นกัน “แน่นอนว่าบริษัทเองก็ต้องทบทวนและเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคลอย่างละเอียดตามไปด้วย”

ประเด็นสำคัญคือ IT ✕ OT และการรวมหรือจัดการข้อมูลไว้ด้วยกัน

ในการทำโรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ ปูนซีเมนต์นครหลวงได้ดำเนินการ 5 ประการดังต่อไปนี้ (รูปที่ 2)

(1) สร้างเครือข่ายโรงงานโดยรวม

(2) ใช้อุปกรณ์ที่รองรับโทรศัพท์มือถือในการตรวจตรา

(3) บูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) และเทคโนโลยีส่วนปฏิบัติการ (Operational Technology: OT) เข้าด้วยกัน

(4) สร้างกลไกสำหรับการจัดการผู้รับเหมาและการจัดการข้อมูล

(5) ติดตั้งศูนย์ปฏิบัติการจากระยะไกล (Remote Operation Center)

รูปที่ 2 สิ่งที่ปูนซีเมนต์นครหลวงดำเนินการเพื่อเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

(1) การสร้างเครือข่ายโรงงานโดยรวมคือการสร้างรากฐาน จัดตั้งโรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ ด้วยการเชื่อมต่อทุกพื้นที่ในโรงงานขนาดใหญ่

(2) ติดตั้งอุปกรณ์ดิจิทัลในการตรวจตรา ทำให้สามารถรับรู้สภาพภายในอุปกรณ์จากเสียง และอื่นๆได้

(3) การบูรณาการระหว่าง IT และ OT มีประโยชน์ต่อการจัดการความเสี่ยงในการเกิดปัญหา และอื่นๆ หากเรารู้ได้ทันทีว่าเครื่องจักรใดเสีย หรือน่าจะมีปัญหาตรงไหน จะสามารถประหยัดเวลาในการตรวจสอบและซ่อมแซม รวมถึงหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายสูงในการซ่อมแซมที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่เกิดปัญหาได้

(4) การจัดการผู้รับเหมาจะช่วยประหยัดแรงงานในการซื้อวัสดุที่จำเป็นและการจ่ายเงินให้ผู้รับเหมา ทั้งยังช่วยหลีกเลี่ยงปัญหา เช่น การชำระเงินตกหล่น ซึ่งสิ่งนี้จะเชื่อมโยงกับการเสริมสร้างการปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม (Compliance)

(5) ศูนย์ปฏิบัติการจากระยะไกล (Remote Operation Center) คือศูนย์รวบรวมข้อมูล โรงงานทั้งหมดจะอยู่ภายใต้
การควบคุมของศูนย์นี้

ด้วยการสร้างกลไกดังกล่าวนี้ ปัญหาต่างๆ จะลดลง เช่น เครื่องจักรอุปกรณ์ชำรุด อีกทั้งยังทำให้ชิ้นส่วนสำรองที่เก็บเตรียมไว้เมื่อเกิดเหตุชำรุดไม่จำเป็นอีกต่อไป นอกจากนี้ยังสามารถลดความซับซ้อนของกระบวนการ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับพนักงานได้อีกด้วย

การดำเนินการโรงงานอัจฉริยะของฟูจิตสึ
icon-formติดต่อ

เราต้องการความคิดเห็นจากคุณ.